เกี่ยวกับการประชุม

หลักการและเหตุผล

          ความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทยเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม แต่การพัฒนาประเทศบนฐานทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพยังไม่ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพเนื่องจากการขาดองค์ความรู้พื้นฐานทั้งที่เป็นความรู้สมัยใหม่และความรู้จากภูมิปัญญาที่จะนำมาผสมผสานรวมทั้งขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางซึ่งนำไปสู่ความไม่มั่นคงต่อการรักษาทรัพยากรรวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจสังคม ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อทรัพยากรชีวภาพซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยต้องเร่งพัฒนาการบริหารจัดการทรัพยากรและองค์ความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพอย่างบูรณาการ รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมมาผสมผสานร่วมกัน

          ประเทศไทยมีหลักฐานการศึกษาสำรวจทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพมานานกว่า ๒๐๐ ปี โดยชาวตะวันตก ต่อมาภายหลังคนไทยตื่นตัวกันมากขึ้น ทำการศึกษาวิจัยทรัพยากรชีวภาพในหลายกลุ่มสิ่งมีชีวิตอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่ยอมรับของคนในชาติและนานาชาติ อย่างไรก็ตามปัญหาการได้รับการสนับสนุนจากแหล่งทุนต่างๆ และการรวมตัวกันของนักอนุกรมวิธาน และนักวิจัยชาวไทยเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการนำความรู้จากผลการวิจัย และภูมิปัญญามาสร้างเป็นองค์ความรู้ ที่มีการร้อยเรียง เชื่อมโยงจนเกิดมูลค่าเพิ่ม สร้างประโยชน์ให้คนไทยและภูมิภาค การสำรวจค้นหาสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย แล้วนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องระดมนักอนุกรมวิธานจากทั่วประเทศ เพื่อจัดการในเรื่องฐานข้อมูลทรัพยากร ดังนั้นการจัดการประชุมทางวิชาการอนุกรมวิธานและซิสเทมาติคส์ในประเทศไทยซึ่งริเริ่มโดยคนไทย ซึ่งมีการจัดประชุมมาแล้วถึง ๖ ครั้ง นับเป็นพัฒนาการที่สำคัญและมีผลตอบรับในทิศทางที่ดี มีจำนวนสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมแล้วมากกว่า ๒๐๐ คน ในหลากหลายกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่ศึกษา อีกทั้งยังเป็นเวทีให้นักอนุกรมวิธานสาขาต่างๆ รวมทั้งนิสิตนักศึกษาได้มาแสดงความสามารถ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และยังเป็นการกระตุ้นเตือนให้เยาวชนของชาติได้เห็นถึงความสำคัญของการสำรวจ ค้นหา จดบันทึก วิเคราะห์ และนำเสนอเผยแพร่อย่างมืออาชีพมากขึ้น ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จึงได้เล็งเห็นความสำคัญของการจัดประชุมวิชาการ การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ : อนุกรมวิธานและซิสเทมาติคส์ในประเทศไทย ครั้งที่ ๗” จะทำให้นักอนุกรมวิธานของไทยมีการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น อีกทั้งยังเป็นกิจกรรมที่จะช่วยหน่วยงานที่ให้ทุนสนับสนุนได้เห็นภาพความสำคัญได้อย่างทันเวลา รักษาผลประโยชน์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพของชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ